หนึ่งในเครื่องดื่มที่คนนิยมดื่มกันมากที่สุดนอกจากกาแฟแล้วก็คือ “ชา” โดยนับว่าเป็นเครื่องดื่มที่มีผู้ดื่มมากที่สุดในโลกรองจากน้ำเลยทีเดียว ซึ่งชาเป็นผลผลิตทางเกษตรกรรมจากใบยอดอ่อนและก้านของต้นชา (Camellia sinensis) นำมาผ่านกรรมวิธีแปรรูปที่หลากหลาย ทำให้มีชื่อเรียกชาที่แตกต่างกันออกไป
ชาเขียวคืออะไร?

ชาเขียว คือ ชาที่ได้มาจากต้นชา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Camellia sinensis เป็นชาที่ไม่ผ่านการหมัก กรรมวิธีการผลิตทำโดยการนำใบชาสดมาผ่านความร้อนอย่างรวดเร็ว โดยใช้ความร้อนไม่สูงมากเกินไปและนวดเบาๆ ก่อนแห้ง หรืออบไอน้ำในระยะเวลาที่ไม่มาก แล้วนำไปอบให้แห้งเพื่อเป็นการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ ทำให้ได้ใบชาที่แห้งแต่ยังสดและยังมีสีเขียวของใบชาอยู่ และการที่ใบชาไม่ผ่านขั้นตอนการหมัก ทำให้ใบชามีสารประกอบฟีนอล (Phenolic compound) หลงเหลืออยู่มากกว่าชาที่ผ่านการหมัก เช่น ชาแดงและชาอู่หลง
ประเภทของชาเขียว

ชาเขียวแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้
- เกียวคุโระ (Gyokuro) ยอดใบชาเขียวคุณภาพสูง ผ่านการเลี้ยงในร่มเพื่อรักษาสารอาหารให้ได้มากที่สุด โดยคลุมผ้ากันแสงให้อยู่ในสภาวะเหมาะสมจนเกิดเป็นสีเขียว เป็นชาที่รสไม่ฝาด หวานเล็กน้อยกลมกล่อม ลักษณะพิเศษของชาเกียวคุโระ คือเป็นใบชาที่ม้วนตัวอย่างสวยงาม
- มัทฉะ (Matcha) เป็นชื่อชาที่หลายคนคุ้นเคย ซึ่งมัทฉะแบ่งเป็นหลายเกรด สามารถสังเกตได้จากสีของมัทฉะ ยิ่งมัทฉะสีเข้มเท่าไหร่ คุณภาพก็ยิ่งดีเท่านั้น มักนำมาใช้ในพิธีชงชา มีรสชาติดี กลิ่นหอมเฉพาะตัว และมีความฝาดน้อย
- เซนฉะ (Sencha) ชาเขียวที่มีคุณภาพรองจากเกียวกุโระและมัทฉะ ชาเขียวส่วนใหญ่ หรือคิดเป็นกว่า 60% ของชาเขียวในประเทศญี่ปุ่น เป็นชาที่นิยมดื่มกันมากที่สุด ซึ่งชาจะปลูกโดนแสงแดดตลอดเวลาจนถึงช่วงเก็บเกี่ยว ชาที่ได้มีสีเขียวมรกต มีรสชาติหวานปนขม และกลิ่นหอมสดชื่น
- บันฉะ (Bancha) เป็นใบชาเกรดต่ำสุด คุณภาพรองลงมาจากชาเซนฉะ ได้มาจากใบชาที่เก็บนอกฤดูกาล เป็นใบชาที่เหลือจากยอดต้น จึงแทบจะไม่มีความขมและรสชาติที่สดชื่น เหมาะสำหรับดื่มทั่วไปในชีวิตประจำวัน ด้วยกลิ่นเฉพาะตัวของชาไม่หอมเท่าชาประเภทอื่น จึงมีการดัดแปลงเป็นเมนูชาอีกหลายประเภทเพื่อเพิ่มรสหรือกลิ่น เช่น โฮจิฉะ (Hojicha) หรือเก็มไมฉะ (Gemmaicha)
ประโยชน์ของชาเขียว

- มีสารคาเฟอีนและธิโอฟิลลีน มีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง ส่งผลให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า
- มีสารอีพิกัลโลคาเทชินกัลเลต (EGCG) ซึ่งมีความสำคัญในการออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ส่งผลต่อการควบคุมน้ำหนักของร่างกาย ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลและระดับน้ำตาลในเลือด
- จากข้อมูลของสถาบันมะเร็งแห่งชาติพบว่าโพลีฟีนอล(Polyphenols) ในชาเขียว มีส่วนช่วยลดการเจริญเติบโตของเนื้องอก นอกจากนี้ในประเทศที่มีการบริโภคชาเขียวสูง มีอัตราการเกิดมะเร็งลดลง
- สารประกอบคาเทชินในชาเขียว มีส่วนช่วยในการป้องกันเซลล์ประสาทในหลอดทดลองและแบบจำลองสัตว์ต่าง ๆ ซึ่งมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะสมองเสื่อมได้
- ใช้ดับกลิ่นปากและลดแบคทีเรียในช่องปาก สารสกัดจากชาเขียวจะช่วยในการยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย จึงช่วยกำจัดจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของโรคต่างๆ ภายในช่องปากได้
- ช่วยป้องกันการเสื่อมของเซลล์ผิว ทำให้ผิวพรรณดูสดใส อ่อนเยาว์

ชาเขียวเป็นเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ ผลข้างเคียงต่อการบริโภคชาเขียวนั้นถือว่ามีเพียงเล็กน้อย อาจทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ หงุดหงิดง่าย หรือเกิดการคลื่นไส้ได้เนื่องจากคาเฟอีนได้ ทางที่ดีควรดื่มในปริมาณที่เหมาะสม