หลาย ๆ คนคงพบเจอกับปัญหาตะคริวกิน ไม่ว่าจะเป็นที่เท้าหรือบริเวณน่อง โดยส่วนใหญ่มักเกิดในนักกีฬา หรือจากการออกกำลังกาย, ว่ายน้ำ หรือตอนกำลังวิ่ง ตะคริวเป็นสัญญาณเตือนว่ามีความผิดปกติขึ้นในร่างกายเกิดขึ้น เราจึงจำเป็นต้องรู้จักอาการนี้ทั้งสาเหตุ การรักษา และการป้องกันให้มากยิ่งขึ้น
ตะคริวเกิดจากอะไร ?

เกิดจากภาวะที่กล้ามเนื้อหดเกร็ง ทำให้กล้ามเนื้อปวดและเป็นก้อนแข็ง เป็นการเกิดอย่างฉับพลัน ซึ่งเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อส่วนใดก็ได้ แต่ส่วนมากจะเกิดขึ้นบริเวณกล้ามเนื้อด้านหลังต้นขา หรือกล้ามเนื้อด้านหน้าต้นขา ส่งผลให้เกิดอาการปวด หรือเจ็บกล้ามเนื้อบริเวณนั้น รวมถึงเกิดจากการใช้งานกล้ามเนื้อที่มากเกินไปขณะวิ่ง ทำให้ปลายประสาทอาจเกิดการอักเสบ รวมถึงผู้ที่ร่างกายขาดเกลือแร่หรือน้ำอาจทำให้กล้ามเนื้อมัดนั้นอาจเกิดอาการล้าได้
สาเหตุของการเกิดตะคริว

ตะคริวเกิดจากสาเหตุมากมายหลายประการจนยากที่จะระมัดระวังได้
- เกิดจากการดื่มน้ำน้อยเกินไป ทำให้เซลล์กล้ามเนื้อขาดน้ำ
- เกลือแร่ในร่างกายไม่สมดุล โดยเฉพาะโซเดียมและโพแทสเซียม ได้แก่ อาเจียน เสียเหงื่อมาก ท้องเดิน หรือรับประทานอาหารที่ไม่สมดุล ซึ่งอาจทำให้เป็นตะคริวรุนแรง คือเกิดกับกล้ามเนื้อหลายส่วนของร่างกายและมักจะเป็นอยู่นาน
- แคลเซียมในเลือดต่ำ ก็อาจเป็นตะคริวได้บ่อย
- หญิงตั้งครรภ์อาจเป็นตะคริวได้บ่อย เนื่องจากระดับของแคลเซียมในเลือดต่ำ
- กล้ามเนื้ออ่อนล้า หรืออ่อนแรง จากการใช้งานกล้ามเนื้อติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือจากการทำงานหนัก
- การได้รับบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อ อาจเกิดจากการกระแทกจากการเล่นกีฬาจนทำให้เกิดการฟกช้ำที่กล้ามเนื้อ
- กล้ามเนื้อขาดการยืดหยุ่น มักเกิดขึ้นเวลาออกกำลังกายแล้วไม่ได้ยืดหยุานกล้ามเนื้อ
- กล้ามเนื้อขาดเลือด เกิดจากการออกกำลังกายอย่างหนักโดยที่ไม่ได้วอร์มอัพ ทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อไม่พอ
- การยืน หรือนั่ง ในท่าที่ไม่สะดวกเป็นเวลานาน ๆ ทำให้การไหลเวียนของเลือดไม่สะดวก
- ผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง หรือหลอดเลือดตีบตัน เช่น ผู้สูงอายุ อาจเป็นตะคริวขณะที่เดินนาน ๆ เนื่องจากการไหลเวียนของเลือดไปที่ขาไม่ดี
การรักษาเมื่อเกิดตะคริว

การรักษาเบื้องต้นเมื่อเกิดตะคริว คือ นวดและยืดกล้ามเนื้อ เนื่องจากกล้ามเนื้อที่เป็นตะคริวจะหดเกร็ง ให้ค่อย ๆ ยืดกล้ามเนื้อออกให้มาอยู่ในความยาวปกติของกล้ามเนื้อและนวดประมาณ 1–2 นาที หากเริ่มรู้สึกเจ็บปวดขาน้อยลงหรือดีขึ้น ให้ค่อย ๆ คลายมือออก หากยังไม่ดีขึ้น ให้นวดจนกว่ากล้ามเนื้อจะคลายตัวลง หรือหากเกิดอาการเป็นตะคริวในขณะที่กำลังนอน ให้ยืดกล้ามเนื้อขา โดยยืดขาให้ตรงแล้วกระดกปลายเท้าขึ้น ค้างไว้ 5 วินาที ทำซ้ำ 5-10 ครั้ง แล้วนวดกล้ามเนื้อขาเป็นวงกลมจนกว่ากล้ามเนื้อจะคลายตัวลง
การป้องกันการเกิดตะคริว

- อบอุ่นร่างกายยืดเส้นยืดสายกล้ามเนื้อทุกครั้งก่อนเริ่มออกกำลังกาย
- ดื่มน้ำให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 8-10 แก้วหรือ 2 ลิตร
- กินอาหารที่มีแคลเซียม โพแทสเซียม และแมกนีเซียม เช่น ปลา นม ผักโขม ลูกเกด ส้ม กล้วยหอม เป็นต้น
- นอนยกขาให้สูง โดยใช้หมอนรองให้ขาสูงขึ้นจากเตียงประมาณ 10 เซนติเมตร
- ระมัดระวังการยกของหนัก หรือการทำกิจกรรมที่ใช้กล้ามเนื้อหนักอย่างต่อเนื่อง
- หลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย หลังการรับประทานอาหาร
- นอนหลับให้เพียงพอวันละ 7-9 ชั่วโมง
จะเห็นได้ว่า ส่วนใหญ่ตะคริว เกิดจากกล้ามเนื้อและเอ็นไม่ได้ยืดตัวบ่อย ๆ จึงทำให้กล้ามเนื้อเกิดการหดหรือเกร็งได้ง่าย แม้ว่าจะพบเจอได้บ่อยจนเหมือนเป็นเรื่องปกติ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ควรมองข้าม ควรยืดกล้ามเนื้อบ่อย ๆ กินอาหารที่มีแคลเซียม โพแทสเซียม และแมกนีเซียมหรือปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติมก็ได้เช่นเดียวกัน
อ่านบทความเกี่ยวดับสุขภาพเพิ่มเติม : ออฟฟิศซินโดรม โรคยอดฮิตของคนวัยทำงาน