การนอนกรนนั้นเป็นอาการที่พบบ่อยมาก และเกิดขึ้นได้ทุกเพศ ทุกวัย ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ อาจดูเหมือนจะเป็นเรื่องธรรมดาทั่วไปและดูไม่ได้ร้ายแรงสักเท่าไหร่ แต่อันที่จริงแล้วการนอนกรนเป็นเรื่องที่ควรใส่ใจให้มาก เพราะว่าอาจส่งผลให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมาได้ อย่างเช่น โรคภาวะไหลตาย
การกรนแบ่งออกเป็น 2 ชนิด

- การกรนปกติที่มีเสียงดังรบกวน
- การนอนกรนที่มีเสียงดังร่วมกับมีการหยุดหายใจด้วย
การนอนกรนชนิดที่มีการหยุดหายใจร่วมด้วย เรียกว่า Sleep Apnea ซึ่งเป็นอันตรายและมีผลเสียต่อสุขภาพ Sleep Apnea จะมีการหยุดหายใจนานอย่างน้อยที่สุดประมาณ 10 วินาที โดยมากกว่า 5 ครั้ง/ชั่วโมง ในขณะที่นอนหลับอยู่ ซึ่งเกิดจากมีการปิดกั้นอย่างสมบูรณ์ของทางเดินหายใจชั่วคราว ซึ่งภาวะนี้จะทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองได้น้อยลง ทำให้ร่างกายช่วยตัวเองโดยตื่นขึ้นมาจากการหลับลึก เพื่อหายใจเป็นระยะในช่วงที่นอนหลับ
การกรนชนิดที่มีการหยุดหายใจเป็นผลร้ายต่อสุขภาพ ดังนี้
- มีการหมุนเวียนของเลือดไปเลี้ยงหัวใจผิดปกติ
- มีความเสี่ยงต่อโรคสมองขาดเลือด
- มีความเสี่ยงต่อหัวใจล้มเหลว
- มีความเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง
- มีการเต้นของหัวใจผิดปกติในเวลากลางคืน
- ปวดศีรษะตอนเช้า
- ซึมเศร้า, ง่วงนอน, ขาดสมาธิ, ไม่แจ่มใสในเวลากลางวัน
- มีความเสี่ยงกับอุบัติเหตุขณะขับรถ หรือ ทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล
- รบกวนทำลายสุขภาพเพื่อนร่วมห้องนอน
โรคภาวะไหลตายคืออะไร?

นอนไหลตาย ทางการแพทย์เรียกภาวะนี้ว่า “กลุ่มอาการบรูกาดา” (Brugada Syndrome) อาการไหลตายนั้นเป็นอาการที่เกิดขึ้นจากหัวใจที่เต้นผิดจังหวะอย่างกะทันหัน ทำให้เสียชีวิตในระยะเวลารวดเร็ว ผู้ที่มีอาการไหลตายนั้นจะไม่มีทางทราบได้เลยว่าตนเองมีอาการแบบนี้ เนื่องจากเสียชีวิตไปขณะหลับลึก โรคไหลตายมักเป็นการเสียชีวิตอย่างฉับพลันในช่วงเวลากลางคืน ญาติหรือคนใกล้ชิดจึงไม่สามารถช่วยชีวิตไว้ได้ทัน
สาเหตุของการเกิดโรคกรน และหยุดหายใจขณะหลับ

การนอนกรน มีความเกี่ยวข้องกับโรคไหลตาย หรือ โรคหัวใจวายแบบเฉียบพลัน ซึ่งการนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับนั้นจะมีลักษณะของทางเดินหายใจบริเวณส่วนต้นตีบแคบและอุดตันขณะนอนหลับ ซึ่งเสียงกรนจะเกิดขึ้นในขณะที่กำลังหายใจ เพราะอากาศเดินทางผ่านที่แคบจึงทําให้เกิดเสียงดังขึ้น อีกทั้งยังทําให้ไม่สามารถหายใจเอาอากาศเข้าสู่ปอดได้อย่างเต็มที่ ทำให้เกิดผลเสียหลายอย่างตามมา โดยเฉพาะทําให้ออกซิเจนในเลือดต่ำเนื่องจากขาดอากาศหายใจ จึงต้องพยายามที่จะหายใจให้แรงขึ้นเพื่อเปิดทางเดินหายใจ
หากมีอาการนอนกรนชนิดรุนแรง หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ มีผลทำให้หัวใจต้องทำงานหนักมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่มีอาการสะดุ้งเฮือกและตื่นขึ้นมาระหว่างนอนหลับ เมื่อหัวใจต้องทำงานหนักทุกคืนเป็นเวลานาน อาจมีผลทำให้กล้ามเนื้อหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน หรือไหลตายได้

อย่างไรก็ตาม ควรหมั่นสังเกตอาการนอนกรนของตัวเอง หรือให้ผู้ใกล้ชิดคอยสังเกตอาการว่าอาการกรนมีความผิดปกติแล้วมีโอกาสเกิดโรคไหลตายหรือไม่ หากรู้สึกผิดปกติควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อแนะนำแนวทางการรักษาความเสี่ยงที่จะเป็นโรคไหลตายอย่างเร่งด่วน
อ่านบทความความสุขภาพเพิ่มเติม : รวมสารพัดประโยชน์จากน้ำมันมะพร้าว ขวดเดียวเอาอยู่