เที่ยวทิพย์

ปวดท้องประจำเดือน กินยาพาราได้ไหม ?

ปวดท้องประจำเดือน

แน่นอนว่าสาว ๆ อย่างเราก็จะมีประจำเดือนในทุก ๆ เดือนกันอยู่แล้ว และส่วนใหญ่มักจะมีอาการปวดท้องประจำเดือนกันอยู่ไม่น้อย นับว่าเป็นเวลาที่ทรมานที่สุดของผู้หญิงเราเลยก็ว่าได้ บางคนถึงกับอาการหนักรุนแรงถึงขั้นต้องลาเรียนลาป่วยกันเลยล่ะ เพราะเวลามีอาการจะไม่สามารถลุกไปไหนได้ ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ ต้องนำถุงน้ำร้อนมาประคบเพื่อบรรเทาอาการปวด หรือกินยาเพื่อบรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือน แต่ถ้าสถานการณ์ฉุกเฉินที่ไม่มียาแก้ปวดประจำเดือนโดยเฉพาะ มีแค่ยาพาราจะสามารถกินแทนได้หรือไม่ วันนี้เรามาหาคำตอบกัน 

ทำไมเวลาเป็นประจำเดือนถึงปวดท้อง

ปวดท้องประจำเดือน เป็นกลไกหนึ่งของร่างกายเกิดจากการบีบตัวของกล้ามเนื้อมดลูกเพื่อให้ร่างกายขับเนื้อเยื่อภายในมดลูกออกมาเป็นประจำเดือนจึงเกิดอาการปวดเกร็งท้องน้อย แต่บางครั้งอาจมีการบีบตัวของกล้ามเนื้อที่รุนแรงมากกว่าปกติจนอาจไปกดทับหลอดเลือดบริเวณใกล้เคียง จนทำให้ออกซิเจนไม่สามารถเข้าไปหล่อเลี้ยงได้ และในช่วงที่มีประจำเดือนร่างกายจะมีการผลิตสารที่ชื่อว่า โพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin) ที่เป็นสารที่กระตุ้นให้กล้ามเนื้อมดลูกเกิดการบีบตัวมากขึ้นด้วย ซึ่งแต่ละคนความรุนแรงของอาการปวดก็แตกต่างกัน บางคนปวดไม่รุนแรง บางคนมีอาการปวดรุนแรงมาก จนต้องหาวิธีบรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือนนี้

กินยาพารา แทนยาแก้ปวดท้องประจำเดือนได้หรือไม่ ?

การใช้ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) แก้อาการปวดท้องประจำเดือน เป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถใช้บรรเทาอาการปวดประจำเดือนได้หากอาการปวดนั้นอยู่ในระดับที่ไม่รุนแรง และบรรเทาได้ในระยะสั้น

แนะนำให้รับประทานตามน้ำหนักตัว โดยให้ 10 – 15 mg/kg และแนะนำให้กินยาพาราเซตามอล เมื่อมีอาการปวดเท่านั้น และกินห่างกันอย่างน้อย 4 ชั่วโมง ไม่รับประทานเกินวันละ 8 เม็ด (ขนาด 500 มิลลิกรัม/เม็ด) และไม่ควรรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานาน

วิธีป้องกัน – บรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือน 

  1. ใช้กระเป๋าน้ำร้อนประคบท้องน้อยและบริเวณหลังที่มีอาการปวด
  2. อาบน้ำอุ่น เพราะการอาบน้ำอุ่น จะช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายจึงทำให้อาการปวดประจำเดือนลดน้อยลง
  3. นั่งสมาธิหรือโยคะ เพื่อให้ผ่อนคลาย
  4. พยายามให้ร่างกายพักผ่อนให้เพียงพอ
  5. ออกกำลังกายเบา ๆ ช่วงมีประจำเดือน ซึ่งไม่เพียงช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือนได้เท่านั้นแต่ยังทำให้สุขภาพดีอีกด้วย
  6. กินผักและผลไม้ ลดปริมาณอาหารที่มีไขมัน เกลือ เครื่องดื่มผสมคาเฟอีน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และขนมหวาน
  7. ดื่มน้ำอุ่นในปริมาณที่มากกว่าปกติ
  8. ดื่มชาอุ่น ๆ เช่น ชาคาโมมายล์ ให้เลือดลมไหลเวียนสะดวก ชาคาโมมายล์ มีคุณสมบัติต้านการอักเสบ ลดการผลิตสาร Prostaglandins ซึ่งทำให้มดลูกหดตัว สาเหตุของการปวดท้อง อาเจียน เวียนหัว ชานี้ยังเหมาะกับคนที่แพ้ยาพารา, พอนสแตนอีกด้วย
  9. กินวิตามินเสริม เช่น น้ำมันปลา, วิตามินบี 1 

หากสาว ๆ คนไหนที่มีอาการปวดท้องประจำเดือน แต่ไม่มียาแก้ปวดประจำเดือนโดยเฉพาะ หรือพอนสแตน ก็สามารถใช้ยาพาราแทนได้ หากมีอาการปวดไม่มาก แต่อย่างไรก็ตาม หากทานยาแล้วยังไม่หายปวดท้องประจำเดือน หรือมีอาการปวดท้องประจำเดือนอย่างรุนแรง ประจำเดือนผิดปกติ แนะนำให้พบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายให้ละเอียด เพราะอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติของมดลูกก็เป็นได้