เที่ยวทิพย์

ยื่นภาษี 2564 ลดหย่อนอะไรได้บ้าง

ยื่นภาษี 2564 ลดหย่อนอะไรได้บ้าง

ภาษีเป็นสิ่งที่รัฐบาลเรียกเก็บจากผู้มีรายได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ เช่น การสาธารณูปโภค การศึกษา เศรษฐกิจ สาธารณสุข เป็นต้น ทั้งนี้ในช่วงต้นปีประชาชนที่มีรายได้ทุกคนจำเป็นต้องยื่น และชำระภาษีตามที่กำหนด ซึ่งนับเป็นส่วนหนึ่งของหน้าที่พลเมืองที่ประชาชนทุกคนต้องให้ความสำคัญและให้ความร่วมมือ อย่างไรก็ดีการยื่นภาษีมีรายละเอียดที่จำเป็นต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจหลายประการ วันนี้แอดมินจึงจะขออาสาพาทุกท่านไปเรียนรู้ข้อมูลเกี่ยวกับภาษีเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ดังรายละเอียดต่อไปนี้ 

ใครต้องเสียภาษีบ้าง

ใครต้องเสียภาษีบ้าง

ประชาชนชาวไทยผู้มีรายได้ทุกคนจำเป็นต้องกรอกข้อมูลรายรับรายจ่ายเพื่อยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แม้ว่าจะต้องชำระหรือได้รับการยกเว้นก็ตาม ทั้งนี้กฎหมายได้ระบุรายละเอียดไว้ดังต่อไปนี้

  • คนไทยทุกคน กรณีโสด และมีรายได้เกิน 120,000 บาท/ปี หรือเฉลี่ยเดือนละ 10,000 บาท ต้องยื่นทุกคน
  • คนไทยทุกคน กรณีสมรส และมีรายได้เกิน 220,000 บาท/ปี หรือเฉลี่ยเดือนละ 18,333 บาท ต้องยื่นทุกคน

ระยะเวลาในการยื่น

ระยะเวลาในการยื่นภาษี

การยื่นแบบและชำระเงินประจำปี 2564 เป็นการคำนวณรายได้ตลอดปี 2564 โดยจะเริ่มคำนวณตั้งแต่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2564 ทั้งนี้การยื่นแบบในปี 2565 สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่  

  1. ภ.ง.ด. 90 สำหรับผู้มีรายได้นอกเหนือจากเงินเดือน อาทิ ดอกเบี้ยจากการลงทุน เงินปันผล ค่าเช่าบ้าน
  2. ภ.ง.ด. 91 สำหรับผู้มีรายได้เป็นเงินเดือน โดยไม่มีรายได้เสริมอื่น ๆ เช่น เงินเดือน เบี้ยประชุม โบนัส

การลดหย่อน

การลดหย่อนภาษี

การลดหย่อนภาษี เป็นการนำค่าใช้จ่ายที่สามารถใช้หักลดภาษีในปี 2564 ได้ โดยปัจจุบันแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่

  1. ค่าลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว
    • ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท
    • ค่าลดหย่อนคู่สมรส 60,000 บาท
    • ค่าลดหย่อนฝากครรภ์ และคลอดบุตร ไม่เกิน 60,000 บาท
    • ค่าลดหย่อนบุตร คนละ 30,000 บาท
    • ค่าลดหย่อนบิดามารดา 30,000 บาท
    • ค่าอุปการะผู้พิการ หรือทุพพลภาพ 60,000 บาทต่อคน
  2. ค่าลดหย่อนประกัน การลงทุน เงินออม
    • เงินสมทบประกันสังคม ลดหย่อนตามจริง ไม่เกิน 5,100 บาท
    • ประกันชีวิตทั่วไป ประกันสะสมทรัพย์ ประกันสุขภาพ และเบี้ยประกันอุบัติเหตุ ลดหย่อนตามจริง ไม่เกิน 100,000 บาท
    • ประกันสุขภาพบิดามารดา สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท
    • เบี้ยประกันชีวิตบำนาญ ลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้ตามที่จ่ายจริง ไม่เกิน 200,000 บาท
    • กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ไม่เกิน 500,000 บาท
    • กองทุนรวมเพื่อการออม ไม่เกิน 200,000 บาท
    • การทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไม่เกิน 500,000 บาท
    • กองทุนการออมแห่งชาติ สูงสุดปีละ 13,200 บาท 
  3. ค่าลดหย่อนกลุ่มบริจาค
    • เงินบริจาคทั่วไป และเงินบริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา การพัฒนาสังคม โรงพยาบาลของรัฐ สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากลดหย่อน
    • เงินบริจาคให้พรรคการเมือง ลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท
  4. ค่าลดหย่อนที่อยู่อาศัย
    • ดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัย ลดหย่อนตามจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่าการยื่นแบบชำระเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่มีรายได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด ทั้งนี้หากใครมีรายได้สูงและอยู่ในเกณฑ์เสียภาษีสามารถใช้สิทธิ์ในการลดหย่อนตามรายละเอียดที่ปรากฏด้านบนได้ นอกจากนี้หากใครเกิดข้อสงสัยหรือข้อคำถามในการยื่นแบบประจำปีสามารถติดตามสอบถามเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรได้ทันที เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อผิดพลาด ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายในอนาคตได้