ช่วงหน้าฝนมาถึงก็ต้องหมั่นคอยระมัดระวังการดูแลเด็กเล็กในบ้าน เพราะเชื้อโรคต่าง ๆ มักจะมาในช่วงฤดูกาลนี้ โรคมือเท้าปากก็เช่นกัน โดยข้อมูลสถิติจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานว่าในช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม ถือว่าเป็นช่วงที่เกิดการระบาดมากที่สุด และมักเกิดขึ้นในเด็ก ดังนั้น จึงควรรู้จักและป้องกันให้ถูกวิธี
ทำความรู้จักกับ “โรคมือเท้าปาก”
โรคมือเท้าปาก เป็นโรคติดต่อที่พบมากในเด็ก โดยเฉพาะเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี มักจะระบาดช่วงฤดูฝน สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเตอโรไวรัส มีหลายสายพันธุ์ โดยส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง กรณีที่มีอาการสมองอักเสบร่วมด้วย มักเกิดจากเชื้อเอนเตอโรไวรัส 71 หรือ อีวี 71 มีอาการรุนแรงและอาจเสียชีวิตได้
อาการของโรคมือเท้าปาก
โรคมือเท้าปากมีระยะฟักตัวประมาณ 2-3 วัน อาการเริ่มต้นจะเริ่มมีไข้สูงประมาณ 38-39 องศาเซลเซียส จากนั้นจะมีอาการอื่น ๆ ตามมาภายใน 1-2 วัน ได้แก่ เจ็บคอ ไม่อยากอาหาร เพลีย และจะเริ่มมีตุ่ม ผื่น หรือแผลอักเสบ ที่ผิวหนังบริเวณ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และบริเวณปากทั้งภายนอกและภายใน ซึ่งหากอาการดีขึ้นจะสามารถหายจากโรคนี้ไปใน 1 สัปดาห์
อย่างไรก็ตาม อาจมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ เช่น เหยื่อหุ้มสมองอักเสบ เหยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ หรืออัมพาตกล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียก พ่อและแม่ควรดูแลอย่างใกล้ชิด หากมีอาการเตือนของภาวะรุนแรง เช่น ซึมลง ไม่เล่น ไม่ทานอาหารหรือนม พูดจาไม่รู้เรื่อง ควรรีบนำมาพบแพทย์โดยเร็ว
แนวทางในการรักษาโรคมือเท้าปาก
การรักษาจะรักษาตามอาการทั่วไปของผู้ป่วย เช่น เจ็บคอจนไม่สามารถรับประทานอะไรได้ ให้พยายามป้อนน้ำ นม อาหารอ่อน แนะนำให้ทานอาหารที่เย็น เพื่อลดอาการเจ็บแผลในปาก หากมีไข้ให้ทานยาลดไข้ ในรายที่เพลียมากอาจให้นอนรักษาตัวในโรงพยาบาลและให้น้ำเกลือ ร่วมกับให้ยาลดไข้แก้ปวด หรือหยอดยาชาในปากเพื่อลดอาการเจ็บแผลในปาก และสังเกตอาการของภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เป็นต้น
การป้องกันการเกิดโรคมือเท้าปาก
1. หลีกเลี่ยงการให้เด็กคลุกคลีหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วย
2. ทำความสะอาดมือก่อนหยิบจับอาหารให้เด็กรับประทานทุกครัง และรับประทานอาหารที่สุก สะอาด ปรุงใหม่ ไม่มีแมลงวันตอม รวมทั้งดื่มน้ำสะอาด
3. ไม่ใช้ภาชนะในการรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะช้อน จาน ชาม แก้วน้ำ ขวดนม
4. เมื่อเช็ดน้ำมูกหรือน้ำลายให้เด็กแล้วต้องล้างมือให้สะอาดโดยเร็ว
5. รีบซักผ้าอ้อมหรือเสื้อผ้าที่เปื้อนอุจจาระให้สะอาดโดยเร็ว และทิ้งน้ำลงในโถส้วม ห้ามทิ้งลงท่อระบายน้ำ
6. หากเด็กมีอาการของโรคมือเท้าปากให้รีบพาเด็กไปพบแพทย์ และเมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคมือเท้าปาก ต้องให้เด็กหยุดเรียนอย่างน้อย 1 สัปดาห์ หรือจนกว่าแผลจะหาย
การดูแลเด็กเล็กเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก เพราะฉะนั้นจึงควรระมัดระวังเรื่องสุขอนามัยให้ดี เนื่องจากเด็กอาจจะยังไม่มีภูมิคุ้มกันโรคเพียงพอ จึงสามารถเจ็บป่วยได้ง่าย หากสังเกตอาการแล้วพบว่าเด็กเป็นโรคมือเท้าปาก ก็ให้รีบพาไปพบแพทย์จะดีที่สุด