เที่ยวทิพย์

ออฟฟิศซินโดรม โรคยอดฮิตของคนวัยทำงาน

ออฟฟิศซินโดรม โรคยอดฮิตของคนวัยทำงาน

ปัจจุบันนี้ออฟฟิศซินโดรม (Office syndrome) เป็นคำที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น เป็นอาการของโรคที่พบได้บ่อยในวัยทำงาน หากคุณเป็นคนที่นั่งทำงานเป็นเวลานานๆ แล้วมักมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อบ่อยๆ ควรที่จะต้องระวังไว้ เพราะนั่นอาจจะเป็นสัญญาณเตือนของโรคออฟฟิศซินโดรมก็ได้ 

อาการของออฟฟิศซินโดรม

อาการของออฟฟิศซินโดรม

เนื่องจากไลฟ์สไตล์การทำงานปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้คนต่างทำงานในออฟฟิศ  หรือทำงานนั่งติดโต๊ะกันมากขึ้น และในสถานการณ์ปัจจุบันเทรนด์การทำงานที่บ้าน หรือ Work From Home กำลังได้รับความนิยมหลายคนเข้าใจว่าโรคออฟฟิศซินโดรมนั้นเกิดขึ้นได้เฉพาะกับคนทำงานในออฟฟิศ แต่ในความเป็นจริงแล้วสามารถพบได้ในคนทุกเพศทุกวัยที่มีการใช้งานกล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็นเดิมๆ ซ้ำๆ เป็นระยะเวลานาน หากปล่อยไว้อาจทำให้มีอาการรุนแรงเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในระยะยาวได้ โดยอาการทั่วไปของออฟฟิศซินโดรม มีดังนี้ 

  • ปวดกล้ามเนื้อ ปวดคอ บ่า ไหล่ สะบัก ปวดข้อมือ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดหลัง ปวดเข่า
  • เอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ เกิดการบวมหรือเจ็บที่บริเวณเอ็นกล้ามเนื้อ มักเป็นบริเวณหัวไหล่ ข้อศอก ข้อเท้า เข่า และข้อมือ
  • มีอาการของระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น วูบ เหงื่อออก ตาพร่า หูอื้อ มึนงง ชา เป็นต้น
  • มีอาการทางระบบประสาทที่ถูกกดทับ เช่น อาการชาที่แขนและมือ รวมถึงมีอาการอ่อนแรง หากมีการใช้งานกดทับมากเกินไป
  • นิ้วล็อค เกิดจากการออกแรงที่นิ้วมือมากๆ และบ่อยครั้ง ทำให้เกิดการเสียดสีจนอักเสบบริเวณปลอกหุ้มเอ็นและเส้นเอ็นของนิ้วมือ

การป้องกันโรคออฟฟิศซินโดรม

การป้องกันโรคออฟฟิศซินโดรม

วิธีการป้องกันโรคออฟฟิศซินโดรมที่ดีและเหมาะสมคือต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ดังนี้

  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการนั่งทำงาน ซึ่งต้องกำหนดเวลาพักเป็นระยะ (ข้อแนะนำคือ ทุก ๆ 2 ชั่วโมงหรือเร็วกว่านั้น) หรือลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวหรือบริหารผ่อนคลายกล้ามเนื้อบ้าง หมั่นปรับเปลี่ยนท่าทาง ไม่ค้างอยู่ท่าใดท่าหนึ่งจนนานเกินไป
  • จัดสภาพแวดล้อมสถานที่ทำงานให้มีความเหมาะสม ควรเลือกใช้โต๊ะและเก้าอี้ให้มีความเหมาะสมกับสรีระและควรปรับระดับของการนั่งที่ถูกต้อง ปรับท่านั่งให้ถูกต้อง คือ นั่งหลังตรง จอคอมพิวเตอร์จะต้องอยู่ในระดับสายตา ไม่ก้มหรือเงยจนเกินไป และหัวไหล่ไม่ยกขณะทำงาน
  • หมั่นออกกำลังกายให้กล้ามเนื้อร่างกายแข็งแรง รวมถึงต้องพักผ่อนให้เพียงพอด้วย

การรักษาอาการของโรคออฟฟิศซินโดรม

การรักษาอาการของโรคออฟฟิศซินโดรม
  • ประคบอุ่นตรงบริเวณที่ปวด 10-15 นาที เพื่อให้กล้ามเนื้อบริเวณนั้นผ่อนคลาย หากทำก่อนการบริหารยืดกล้ามเนื้อ จะทำให้บรรเทาอาการปวดเมื่อยได้ดียิ่งขึ้น
  • การรักษาด้วยวิธีทางกายภาพบำบัด โดยนักกายภาพบำบัดจะกำหนดกิจกรรมให้มีความเหมาะสมกับผู้ป่วยออฟฟิศซินโดรมแต่ละราย
  • การนวดแผนไทย
  • การรักษาด้วยการฝังเข็ม โดยสามารถทำได้ทั้งฝังเข็มแผนจีน(acupuncture) หรือฝังเข็มแบบแพทย์ตะวันตก (dry needling)
  • การใช้ยาในการบรรเทาอาการ

สำหรับผู้ที่มีอาการรุนแรง หรือพยายามเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมแล้ว แต่อาการไม่ดีขึ้น มีอาการปวดเรื้อรัง ปวดจนนอนไม่หลับ ทำงานไม่ได้ มีภาวะแขนขาอ่อนแรง หรือบางราย อาจมีสาเหตุหรือมีภาวะซ่อนเร้นอื่นๆ ควรเข้ามาพบแพทย์เพื่อให้แพทย์พิจารณาและตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัด และให้ยาบรรเทาอาการทั้งในรูปแบบการฉีดยา กินยา หรือใช้อุปกรณ์เพื่อลดการใช้งานของอวัยวะที่เกิดการอักเสบ  หรืออาจต้องผ่าตัดเพื่อแก้ไขที่สาเหตุของโรค อย่างไรก็ตามการป้องกันย่อมดีกว่าการรักษา เพราะโรคออฟฟิศซินโดรมมีสาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเราเอง