รถยนต์ไฟฟ้า เป็นอีกหนึ่งกระแสที่กำลังมาแรง และกำลังเป็นที่จับตามองในวงการยานยนต์อย่างมาก เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าเป็นยานพาหนะที่ใช้พลังงานทางเลือกอย่างไฟฟ้ามาแทนที่การใช้น้ำมัน ซึ่งนับเป็นวิธีการประหยัดพลังงาน ตลอดจนประหยัดค่าใช้จ่ายในการขับขี่ยานพาหนะลง ดังนั้นรถยนต์ไฟฟ้าจึงเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การสนับสนุน ทั้งนี้รัฐบาลจึงได้พิจารณาจัดสรรเงินอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้า โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้
รัฐบาลเคาะเงินอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้า

นายอนุชา บูรพชัยศรี ผู้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาเปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. ได้มีมติให้อนุมัติงบประมาณประจำปี 2565 งบกลาง ในรายการเงินสำรองจ่าย วงเงินกว่า 2,923 ล้านบาท เพื่อใช้ในการดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ประเภทรถยนต์ไฟฟ้า และจักรยานยนต์ไฟฟ้าตามประกาศของกรมสรรพสามิต เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรับสิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ประเภทรถยนต์ไฟฟ้า และจักรยานยนต์ไฟฟ้า เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยมีรายละเอียดดังนี้
- กรณีที่เป็นรถยนต์ประเภทนั่ง ไม่เกิน 10 คน ประเภท EV ซึ่งมีราคาขายปลีก แนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท
- ขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 10 กิโลวัตต์ชั่วโมง แต่น้อยกว่า 30 กิโลวัตต์ชั่วโมง อุดหนุนเงินจำนวน 70,000 บาทต่อคัน
- ขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป อุดหนุนเงินจำนวน 150,000 บาทต่อคัน
- กรณีที่เป็นรถยนต์กระบะ ประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท เฉพาะรถกระบะที่ผลิตในประเภท พร้อมทั้งมีความจุแบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป อุดหนุนเงินจำนวน 150,000 บาทต่อคัน
- กรณีที่เป็นรถจักรยานยนต์ ประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 150,000 อุดหนุนเงินจำนวน 18,000 บาทต่อคัน
อย่างไรก็ตามผู้ขอรับสิทธิเงินอุดหนุนตามมาตรการจะต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติตามประกาศของกรมสรรพสามิตกำหนดไว้ เช่น ผู้ประกอบอุตสาหกรรมผู้มีโรงงานอุตสาหกรรม ผู้นำเข้าซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ เป็นต้น นอกจากนี้ผู้ขอรับสิทธิจะต้องเข้ามาทำข้อตกลงร่วมกับกรมสรรพสามิต เพื่อรับทราบและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กรมสรรพสามิตกำหนด ตลอดจนยอมรับบทลงโทษหากไม่สามารถดำเนินการได้
ทั้งนี้หากผู้ประกอบกิจการไม่สามารถดำเนินการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า หรือรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าตามที่กำหนดไว้ กรมสรรพสามิตจะเรียกคืนเงินอุดหนุนจากผู้ได้รับเงินอุดหนุนเป็นรายคัน ตามจำนวนที่ผู้ประกอบกิจการไม่สามารถดำเนินการผลิตชดเชย พร้อมทั้งจ่ายดอกเบี้ยจำนวนร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยไม่ต้องคิดทบต้น และจะบังคับตามหนังสือสัญญาค้ำประกันตามที่ธนาคารวางไว้
นอกจากนี้ข้อมูลจากกระทรวงการคลังยังเปิดเผยว่า ปีงบประมาณ 2565 จะมีผู้ได้รับสิทธิเงินอุดหนุนตามมาตรการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า แบ่งเป็นรถยนต์ จำนวน 18,100 คัน และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า จำนวน 8,800 คัน โดยแนวทางการดำเนินงานส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้านี้จะช่วยสนับสนุนให้ราคายานยนต์ไฟฟ้า (BEV) ลดลง
จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า รัฐบาลกำลังมุ่งสนับสนุนเป้าหมาย เพื่อให้ประเทศไทยได้เป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และชิ้นส่วนต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภคได้รับผลประโยชน์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนั้นในอนาคตรถยนต์ไฟฟ้าน่าจะเข้ามาใช้งานในประเทศไทยอย่างแพร่หลาย และมีราคาถูกยิ่งขึ้น
แนะนำบทความเศรษฐกิจ : หอการค้าเผยสถิติตหนี้ครัวเรือนหลังวิกฤตการณ์โควิด-19