เที่ยวทิพย์

เผยความลับของชาเขียว ที่คนชอบดื่มชาควรรู้

ชาเขียว

ปัจจุบันเรียกได้ว่าชาเขียวถือเป็นเมนูยอดฮิต ไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็เจอแต่ชาเขียวเต็มไปหมด เพราะมีรสชาติหอมนุ่มละมุนลิ้น มีกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ จึงทำให้ใครหลายคนตกหลุมรักเลยทีเดียว แต่ถึงแม้จะดื่มกันบ่อย แต่หลายคนยังเข้าใจผิดว่าที่ดื่มกันทุกวันนี้คือชาเขียวประเภทเดียวกันหมด แต่ความจริงแล้วกลับมีหลายประเภท มีทั้ง สี กลิ่น รสชาติ ที่มา ที่แตกต่างกันอีกด้วย จะมีอะไรบ้างไปดูกันเลย

ประเภทชาเขียวที่จะไม่รู้จักไม่ได้

1. เคียวคุโระ (Kyokuro) มีสีเขียวอ่อน ถือเป็นชาชั้นเยี่ยมของญี่ปุ่น โดยจะคลุมด้วยเสื่อฟางในช่วงสัปดาห์ท้ายๆ ก่อนการเก็บเกี่ยว ทำให้เกิดรสหวาน คาเฟอีนในชาซึ่งช่วยในการพัฒนาการทำงานของสมองและช่วยในการมองเห็น วิธีการชงเคียวคุโระจะแตกต่างจากการชงชาเขียวส่วนใหญ่เล็กน้อย โดยอุณหภูมิในการต้มจะต่ำกว่าและใช้เวลาแช่นานกว่า นอกจากนี้เคียวคุโระยังถือเป็นชาชนิดหนึ่งที่มีราคาแพงที่สุดในญี่ปุ่นอีกด้วย

2. เซนฉะ (Sencha) เป็นชาที่ได้มาจากการเก็บเกี่ยวในเดือนแรกเท่านั้น จึงมีชื่อเรียกว่า ชาใหม่ โดยจะถูกนำไปนึ่งเพื่อป้องกันไม่ให้ใบชาสูญเสียน้ำ ก่อนถูกนำไปรีด ปั้นเป็นก้อน ตากให้แห้ง และคัดแยกออกเป็นกลุ่มตามคุณภาพที่แตกต่างกันไป มักจะมีรสหวานและสีเข้มกว่าชาเขียวจีน อุดมไปด้วยสารอาหารมากมาย และมีกลิ่นหอมสดชื่น ส่วนรสชาติของชาเซนฉะนั้นแตกต่างกันไปตามอุณหภูมิของน้ำที่ใช้ชง ซึ่งถ้าชงด้วยน้ำร้อนรสชาติจะยิ่งขม

3. เกนไมฉะ (Genmaicha) คือชาเขียวที่นำไปผสมกับข้าวกล้อง ในปัจจุบันชาชนิดนี้เป็นที่นิยมทั่วไป เพราะดื่มง่ายและยังช่วยปรับสภาพกระเพาะอาหารด้วยน้ำตาลและแป้งจากข้าว ทำให้ชาชนิดนี้มีความอุ่นและรสชาติคล้ายถั่ว ขณะที่ใบชาจะให้กลิ่นคล้ายใบหญ้า สีของน้ำชาจะมีสีเหลืองอ่อน มีปริมาณคาเฟอีนน้อย

4. โฮจิฉะ (Hojicha) ขณะที่ชาญี่ปุ่นจะถูกนำไปผ่านกรรมวิธีนึ่ง แต่โฮจิฉะกลับแตกต่างออกไป เพราะมันถูกนำไปคั่ว ทำให้ใบชาสีเขียวเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดง และมีรสชาติของชาคั่วอย่างชัดเจน ชาชนิดนี้จะทำจากใบชาบันฉะและเซนฉะที่ถูกเก็บในฤดูเก็บเกี่ยวครั้งสุดท้าย โดยกระบวนการคั่วจะช่วยลดระดับคาเฟอีนและความขมของชาลง ด้วยรสชาติอ่อนๆ ทำให้ชาชนิดนี้เป็นเครื่องดื่มยอดนิยมในยามเย็น และรสชาติก็มีความแตกต่างหลากหลายขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของการคั่วใบชา

5. มัทฉะ (Matcha) คือผงชาเขียวบดละเอียด ด้วยความที่ชาชนิดนี้มีความละเอียดสามารถละลายน้ำได้จึงถูกนำไปใช้ทำนม ไอศกรีม และขนมหวานชนิดอื่นๆ ชาชนิดนี้เต็มไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระและเป็นที่ชื่นชอบ เพราะเมื่อดื่มแล้วจะรู้สึกสบาย รวมไปถึงมีรสชาติที่หวานและเข้มข้นผสมกันได้อย่างลงตัวอีกด้วย มัทฉะจะถูกปลูกในร่มช่วงสามสัปดาห์ก่อนการเก็บเกี่ยวเช่นเดียวกับโคคุโระ ส่วนวิธีการชงมัทฉะมี 2 แบบคือ การชงแบบเข้มที่เรียกว่า โคอิฉะ และการชงแบบอ่อนที่เรียกว่า อุสุฉะ นั่นเอง
รู้แบบนี้แล้ว สาวกชาเขียวก็ลองเลือกดื่มกันตามความชอบกันได้เลย ที่สำคัญควรดื่มในปริมาณที่เพียงพอ เหมาะสมด้วย ไม่เช่นนั้นจากประโยชน์อาจกลายเป็นโทษได้