โรคหัวใจ (Heart Disease) เป็นโรคที่ส่งผลเสียต่อการทำงานของหัวใจ โดยอาจเกิดจากความผิดปกติของหัวใจในส่วนต่าง ๆ ทั้งนี้โรคหัวใจสามารถแบ่งได้หลายชนิด และแต่ละชนิดจะมีอาการ วิธีการรักษา ตลอดจนความเสี่ยงในการเกิดโรคที่ไม่เหมือนกัน วันนี้แอดมินจึงได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโรคหัวใจทุกประเภทมาให้ทุกท่านได้ศึกษา เพื่อเป็นแนวทางในการป้องกัน และดูแลตนเองไม่ให้มีโรคภัยไข้เจ็บมาเบียดเบียน ดังรายละเอียดต่อไปนี้
ประเภทของโรคหัวใจ

- โรคหลอดเลือดหัวใจ จะมีอาการเจ็บแน่นบริเวณหน้าอก รู้สึกร้าวไปตามกราม แขน และลำคอ เหนื่อยง่าย ร่างกายอ่อนเพลีย หรืออาจมีอาการหมดสติได้
- โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ จะมีอาการหัวใจเต้นเร็วหรือช้าผิดปกติ มีอาการใจสั่น เหนื่อยง่าย รู้สึกแน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ คล้ายจะเป็นลมอยู่เสมอ
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจ จะมีอาการเหนื่อยง่าย หายใจไม่เต็มอิ่ม และมักจะมีอาการรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะเมื่อต้องออกแรงมาก อาจมีอาการบวมตามแขน ขา นอนราบไม่ได้ นอกจากนี้อาจมีการไอ เมื่อตื่นขึ้นมาในเวลากลางคืน
- โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด เป็นโรคที่เกิดขึ้นตั้งแต่ขณะทารกอยู่ในครรภ์ ทารกจะมีอาการเหนื่อยขณะดื่มนม และเลี้ยงไม่โต
- โรคลิ้นหัวใจ จะมีความผิดปกติของหัวใจรุนแรงมาก และจะมีอาการเหนื่อยง่าย จนอาจเกิดภาวะหัวใจวาย หรือน้ำท่วมปอดได้
- โรคติดเชื้อบริเวณหัวใจ เป็นอาการไข้เรื้อรัง อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า หัวใจเต้นผิดปกติ หอบเหนื่อย ไอแห้งเรื้อรัง ขาหรือช่องท้องบวม ตลอดจนมีผื่นหรือจุดแดงขึ้นตามบริเวณผิวหนัง
ปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคหัวใจ

โรคหัวใจสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นพันธุกรรม พฤติกรรมการใช้ชีวิต ไปจนถึงความเสี่ยงที่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนของโรคอื่น ๆ วันนี้แอดมินจึงได้สรุปปัจจัยที่จะก่อให้เกิดโรคดังกล่าวไว้ให้ทุกท่านศึกษา ดังรายละเอียดต่อไปนี้
- เพศ ผู้ชายจะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคมากกว่าผู้หญิง ทว่าผู้หญิงจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เมื่อถึงวัยหมดประจำเดือน
- อายุ เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นจะเกิดความเสี่ยงต่อการเสียหายของหลอดเลือดแดง การตีบตัน และภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง
- พันธุกรรม หากครอบครัวใดมีประวัติการป่วยเป็นโรคดังกล่าว จะมีความเสี่ยงในการป่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพ่อแม่เป็นโรคดังกล่าวตั้งแต่อายุยังน้อย (เพศชาย ต่ำกว่า 55 ปี ส่วนเพศหญิง ต่ำกว่า 65 ปี)
- การรับประทานอาหาร การรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว เกลือ น้ำตาล หรือคอเลสเตอรอลสูง จะส่งผลให้เกิดโรคได้
- ความดันโลหิตสูง เป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ และอาจส่งผลให้หลอดเลือดแดงแข็งตัวและหนาขึ้น ส่งผลให้หลอดเลือดตีบลง
- ความเครียด ส่งผลโดยตรงต่อระบบประสาทอัตโนมัติ ซึ่งทำหน้าที่กระตุ้นหัวใจและหลอดเลือด จึงเป็นสาเหตุที่เพิ่มความเสี่ยงได้
- สุขภาพฟัน ปัจจุบันมีงานวิจัยรายงานว่าปัญหาโรคฟัน และเหงือกอักเสบเป็นสาเหตุให้เกิดโรคได้เช่นกัน
- โรคอื่น ๆ ได้แก่ โรคเบาหวาน กับโรคอ้วน
โรคหัวใจเป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตอันดับแรก ๆ ของคนไทยในปัจจุบัน ดังนั้นทุกท่านจึงควรดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พร้อมทั้งหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ โดยเฉพาะความเครียด เพื่อให้มีสุขภาพร่างกายแจ่มใส และไม่ต้องกังวลใจกับโรคภัยต่าง ๆ