เที่ยวทิพย์

วิธีรักษาไมเกรนด้วยตนเอง

วิธีรักษาไมเกรนด้วยตนเอง

ไมเกรน (Migraine) หรือโรคปวดศีรษะไมเกรน (Migraine Headache) เป็นอาการปวดศีรษะรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก เนื่องจากจะมีลักษณะการปวดแบบบีบเป็นจังหวะ และมักจะปวดเพียงข้างเดียว ในช่วงแรกอาการอาจจะไม่รุนแรงมากนัก แต่หากไม่รักษาให้หายขาดหรือทุเลาลง จะทำให้มีอาการุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ และอาจก่อให้เกิดความผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย หรือไวต่อสิ่งเร้า เป็นต้น วันนี้แอดมินจึงได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอาการ และการรักษาโรคไมเกรนมาให้ทุกท่านได้ศึกษา เพื่อเป็นแนวทางในการรักษาสุขภาพกายให้แข็งแรง ดังรายละเอียดต่อไปนี้

อาการของโรคไมเกรน

 
อาการของโรคไมเกรน

การปวดศีรษะไมเกรน สามารถแบ่งลักษณะการแสดงอาการและความเจ็บปวดออกเป็นระยะได้ทั้งหมด 4 ระยะ คือ ระยะก่อนมีอาการ ระยะอาการนำ ระยะอาการปวดศีรษะ และระยะหลังมีอาการ โดยในแต่ละช่วงจะมีอาการที่แตกต่างกันออกไป ดังรายละเอียดต่อไปนี้

  • ระยะก่อนมีอาการ (Prodrome) อยู่ในช่วง 24 ชั่วโมงก่อนปวดศีรษะ มีอาการดังนี้
    • อยากอาหาร
    • อารมณ์แปรปรวน
    • ควบคุมการหาวไม่ได้
    • บวมน้ำ หรือปัสสาวะถี่ขึ้น
  • ระยะอาการนำ (Aura) อยู่ในช่วง 20 – 40 นาที ก่อนหรือหลังปวดศีรษะ มีอาการดังนี้
    • มีภาวะร่างกายอ่อนแรง
    • มองเห็นแสงสว่างจ้า หรือมองเห็นแสงเป็นแบบซิกแซก 
  • ระยะปวดศีรษะ (Headache) มีระยะเวลาประมาณ 4 – 24 ชั่วโมง มีอาการดังนี้
    • ปวดศีรษะ โดยความเจ็บปวดจะค่อย ๆ เพิ่มความรุนแรงขึ้นเรื่อย
    • ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ เป็นต้น
  • ระยะหลังมีอาการ (Postdrome) อยู่ในช่วงหลังปวดศีรษะ โดยอาจเกิดได้ตลอดทั้งวัน หรือยาวนานกว่านั้น มีอาการดังนี้
    • มีอาการอ่อนแรง
    • วิงเวียนศีรษะ สับสน

สาเหตุของโรคไมเกรน

สาเหตุของโรคไมเกรน

ปัจจุบันในทางการแพทย์ยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคไมเกรนที่แน่นอนได้ แต่อย่างไรก็ดีสามารถสรุปปัจจัยเสี่ยงหรือสาเหตุที่กระตุ้นให้เกิดการปวดศีรษะแบบรุนแรงได้ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

  • ความเครียด
  • สูบบุหรี่
  • การใช้ยาบางชนิด
  • อาการถอนคาเฟอีน
  • พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือพักผ่อนมากเกินไป
  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนบางชนิดของผู้หญิง
  • การอดอาหาร หรือรับประทานอาหารไม่เพียงพอ
  • ออกกำลังกายอย่างหักโหม หรือเคลื่อนไหวร่างกายมากจนเกินไป
  • สภาพแวดล้อม ได้แก่ แสงจ้าหรือแฟลช เสียงดัง กลิ่นรุนแรง หรือการเปลี่ยนแปลงของอากาศ

การรักษาโรคไมเกรน

การรักษาโรคไมเกรน

การบรรเทาหรือรักษาอาการปวดศีรษะไมเกรนด้วยตนเองสามารถกระทำได้ด้วยการรับประทานยา โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • ยาบรรเทาอาการปวด สำหรับการปวดศีรษะที่ไม่รุนแรง
    • ยาสามัญประจำบ้าน ได้แก่ Paracetamol
    • ยาลดอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ได้แก่ Ibuprofen Naproxen Celecoxib และ Etoricoxib
  • ยาบรรเทาอาการปวด สำหรับการปวดศีรษะรุนแรง
    • ยากลุ่ม Triptans ได้แก่ Sumatriptan และ Eletripran
    • ยาที่มีส่วนผสมของ Ergotamine ได้แก่ Ergotamine และ Caffeine
  • ยาบรรเทาอาการคลื่นไส้ อาเจียน ได้แก่ Metoclopramide และ Domperidone

นอกจากนี้หากใครมีอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ สามารถบรรเทาได้ด้วยการทำกิจกรรมที่ช่วยให้เกิดความผ่อนคลาย และหลีกเลี่ยงปัจจัยที่จะกระตุ้นให้เกิดอาการ เช่น ความเครียด การสูบบุหรี่ การออกกำลังกายกลางแจ้ง แต่ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมในปริมาณที่เพียงพออย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการนอน เพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ และลดความเสี่ยงในการเกิดโรคปวดศีรษะไมเกรน